เปิดข้อกฎหมาย ขับมอไซค์ต้องอยู่เลนไหนกันแน่

โรงเรียนสอนขับรถนัมเบอร์วัน ไดร์ฟ NUMBER ONE DRIVE SCHOOL สถานที่ตั้งเลขที่ 228 หมู์ที่ 8 ตําบลหนองหญ้าลาด อําเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ 33110
โทรศัพท์ : 065 598 3693

เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะเกิดขึ้นแล้วย่อมสร้างความเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินไม่มากก็น้อย การขับมอไซค์ หรือรถบนท้องถนนนอกจากจะต้องระวังไม่ให้ตัวเองไปชนคนอื่น ยังต้องระวังไม่ให้คนอื่นมาชนตัวเองด้วย บางคนขับขี่ตามกฎจราจรทุกอย่าง แต่พอถึงคราวซวยก็โดนเบียด ปาด แซงกระชั้นชิดจนเกิดอุบัติเหตุจากความประมาทหรือตั้งใจของผู้อื่นก็มี

ในบทความนี้ JusThat จึงขอเล่าสู่กันฟังเรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนนว่าแท้ที่จริงแล้ว ต้องขับรถจักรยานยนต์ในช่องไหน ให้ขับชิดซ้ายเสมอไปจริงเหรอ มอไซค์แทรกช่องจราจรได้ไหม เพราะเห็นใคร ๆ ก็ขับแทรกกัน ไหล่ทางมีไว้ทำไมในเมื่อไม่ได้ให้มอไซค์วิ่ง และขับรถโดยประมาทมีโทษอย่างไรบ้าง  รวบรวมข้อมูลไว้ในบทความนี้แล้ว

ขับมอไซค์ต้องอยู่เลนไหน

ขับมอไซค์แทรกช่องจราจร ขับทับเส้นมีความผิดไหม

ช่องจราจร หรือ เลน (lane) หรือ ช่องเดินรถ มีความหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2552 ว่า “ทางเดินรถที่จัดแบ่งเป็นช่องสําหรับการเดินรถ โดยทําเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวแบ่งเป็นช่องไว้” ซึ่งตามมาตรา 43 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 มีการกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่ขับรถในลักษณะ ต่อไปนี้

1.ในขณะหย่อนความสามารถในการที่จะขับรถ
2.ในขณะเมาสุราหรือของเมาอยางอื่น
3.ในลักษณะกีดขวางการจราจร
4.ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ที่อาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เช่น ถึงทางแยกไม่ลดความเร็ว ขับปาดซ้ายปาดขวา
5.ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจมองเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย เช่น ขับเป๋ไปเป๋มา กระจกเป็นฝ้าจนมองไม่เห็นทางข้างหน้า
6.ขับรถคร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ ยกเว้นการเปลี่ยนช่อง การเลี้ยวรถ หรือกลับรถ
7.ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีสาเหตุที่สมควร ยกเว้น รถลากเข็นสําหรับทารก คนป่วย
8.ขับรถโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
9.ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์มือถือ ยกเว้นการใช้หูฟัง Speakerphone และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ที่พูดคุยได้โดยไม่ต้องจับโทรศัพท์
โดยรถตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก หมายถึง รถทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักยาน รถเมล์ รถบรรทุก 6 ล้อ รถบรรทุก 18 ล้อ และอื่น ๆ ยกเว้นรถไฟและรถราง
ดังนั้น การขับรถมอไซค์ทับเส้นแบ่งเลนไปเรื่อย ๆ หรือขับแทรกรถยนต์ทับเส้นเบ่งเลนไปมา ปาดซ้าย เบียดขวาแบบที่เรามักเห็นกันประจำจึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย มีโทษปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท ตามมาตรา 157 และอาจเข้าข่ายความผิดฐานขับรถโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับ 2,000 -10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 160 วรรค 3 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

ขับมอไซค์ต้องชิดซ้ายเสมอไปจริงเหรอ

การขับรถทุกชนิดโดยหลักแล้วต้องขับในช่องซ้ายและแซงขวา รถช้าอยู่ซ้ายรถเร็วแซงขวาแซงเสร็จเข้าช่องซ้ายตามเดิม และสำหรับรถจักรยานยนต์กฎหมายได้กำหนดให้ต้องขับในช่องเดินรถด้านซ้าย แต่หากซ้ายสุดเป็นช่องเดินรถประจำทาง ต้องขับในช่องถัดไปจะขับในช่องเดินรถประจำทางไม่ได้ ตามมาตรา 35 วรรค 2

แต่หากรถคันหน้าขับช้าแล้วต้องการแซง ต้องเปิดไฟขอทางให้รถที่ตามมาบนถนนรู้ว่าจะเปลี่ยนไปช่องขวา เมื่อเห็นว่าปลอดภัยไม่มีรถตามมาในระยะกระชั้นชิด ค่อยแซงขวาแล้วกลับเข้าช่องซ้ายเมื่อแซงเสร็จ ตามมาตรา 34(4) ยกเว้นว่าช่องซ้ายโล่งมาก ไม่มีรถคันอื่นเลย แบบนี้ก็สามารถขับช่องซ้ายแซงขึ้นไปได้เลยโดยไม่ต้องเปลี่ยนช่องไปด้านขวา

หรือในกรณีที่ต้องการเลี้ยวขวาที่ทางแยกข้างหน้า เบี่ยงขวา กลับรถโดยที่ทางกลับรถอยู่ติดเกาะกลางถนนหรือใต้สะพาน ต้องการเข้าให้ถูกช่องทางที่จะไป ก็สามารถขับในช่องทางด้านขวาได้ตามมาตรา 34(3)

ขับมอไซค์แซงใกล้ทางม้าลายมีความผิด

ถึงแม้ว่ามอไซค์จะสามารถแซงรถคันอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องขับตามไปตลอดเส้นทาง แต่การแซงรถคันอื่นก็มีข้อจำกัด ไม่ใช่ว่าแซงขวาได้แล้วจะแซงได้ทุกที่ ทุกเวลานะ ต้องดูสภาพการจราจร เครื่องหมายบนถนน และลักษณะของถนนด้วย ซึ่งมีการกำหนดไว้ในมาตรา 46 ห้ามไม่ให้แซงรถในกรณีที่

1.ห้ามแซงเมื่อรถกําลังขึ้นทางชัน ขึ้นสะพาน หรืออยู่ในทางโค้ง ยกเว้นมีเครื่องหมายจราจรให้แซงได้
2.ห้ามแซงในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม ทางร่วม ทางแยก วงเวียนหรือเกาะ หรือมีทางรถไฟอยู่ข้างหน้า
3.ห้ามแซงเมื่อมีหมอก ฝน ฝุ่น ควัน จนทําให้มองไม่เห็นทางข้างหน้าได้ในระยะ 60 เมตร
4.ห้ามแซงเมื่อเข้าที่คับขันหรือเขตปลอดภัย
โดยที่ “ทางข้าม” คือ ทางที่มีไว้ให้คนข้ามถนนไปมาระหว่าง 2 ฝั่ง เช่น ทางม้าลาย อุโมงค์คนข้าม สะพานลอยก็เป็นทางข้ามเช่นกัน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท ตามมาตรา 157 เพราะการแซงรถคันอื่นจะต้องเพิ่มความเร็ว หรือขับเร็วกว่ารถคันอื่น หากมีคนกำลังเดินข้ามอยู่แล้วมองไม่เห็นเพราะมีรถคันอื่นบังก็จะทำให้หยุดรถไม่ทัน และอาจชนคนข้ามจนเกิดอันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือชีวิตก็ได้

ขับมอไซค์ช้ากว่ารถคันอื่นต้องขับชิดขอบทางด้านซ้ายให้มากที่สุด

เมื่อกล่าวถึงขอบทางหลายคนอาจคิดว่าขอบทางคือไหล่ทาง เห็นรถช้าก็บีบแตรไล่ให้เขาไปอยู่ไหล่ทาง แต่ความจริงแล้วขอบทางไม่ใช่ไหล่ทาง ซึ่งตามพระราชบัญญติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4 มีการให้ความหมายของขอบทางและไหล่ทางไว้ว่า

“ขอบทาง” หมายความว่า แนวริมของทางเดินรถ

“ไหล่ทาง” หมายความว่า พื้นที่ที่ต่อจากขอบทางออกไปทางด้านข้างซึ่งยังไม่ได้จัดทำเป็นทางเท้า

ดังนั้น ขอบทางก็คือขอบของทางเดินรถ ต่อจากขอบทางคือไหล่ทาง และเป็นทางเท้า หากจำเป็นต้องขับรถช้ามากกว่ารถคันอื่นบนถนนต้องขับชิดขอบทางซ้ายให้มากที่สุด ตามมาตรา 35 วรรคแรก เพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางการจราจร โดยที่รถที่ขับมาด้วยความเร็วปกติก็สามารถผ่านไปได้โดยไม่ต้องลดความเร็วตามลงมา และยังสามารถป้องกันอุบัติเหตุจากการเฉี่ยวชนได้ด้วย

ไหล่ทางมีไว้ทำไมในเมื่อไม่ได้ให้ขับมอไซค์
ไหล่ทางไม่ใช่ทางเดินรถ โดยตามมาตรา 33 มีการกำหนดให้ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย ไม่ใช่ไหล่ทาง เพราะทางเดินรถจะสิ้นสุดแค่ขอบทาง ไหล่ทางที่ต่อออกมาจากขอบทางจึงไม่ได้มีไว้ให้รถวิ่ง แต่ไม่ใช่ว่ารถวิ่งไม่ได้แล้วไหล่ทางจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยนะ

ซึ่งตามมาตรา 103 กำหนดให้คนเดินบนทางเท้าหรือไหล่ทางได้ แปลว่าหากไปที่ไหนแล้วจำเป็นต้องเดิน ข้างทางก็มีแต่พุ่มหญ้าและไม่มีทางเท้า คนก็ต้องเดินบนไหล่ทาง หากขับมอไซค์แซงซ้ายบนไหล่ทางแล้วคนชนเดินก็ต้องรับผิดไปเต็ม ๆ เลย และไหล่ทางทำให้มีระยะห่างของทางเท้าและทางรถวิ่งมากพอสมควร หากเกิดการเฉี่ยวชนบนถนนก็ยังเหลือระยะปลอดภัยให้คนบนทางเท้าสามารถหลบหลีกจากลูกหลงต่าง ๆ ได้ด้วย

นอกจากนี้ ไหล่ทางยังมีไว้สำหรับจอดพักรถในกรณีฉุกเฉิน เช่น รถเสีย รถเกิดอุบัติเหตุ รถฉุกเฉินหรือรถพยาบาล หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็สามารถนำรถหลบเข้าไหล่ทางได้ ทำให้รถคันอื่นบนท้องถนนจะยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ปกติ

อีกกรณีที่น่าสนใจเกี่ยวกับประโยชน์ของไหล่ทาง คือ เมื่อรถฉุกเฉินหรือรถพยาบาลที่อยู่ช่องขวาต้องการผ่านไป รถบนถนนก็จำเป็นต้องหลบไปเลนอื่นเพื่อให้รถเหล่านี้ผ่านไปก่อน แต่ในกรณีที่รถติดจะหลบไปช่องอื่นก็ไม่ได้ การมีไหล่ทางจะทำให้รถด้านซ้ายสามารถหันหัวเบี่ยงเข้าไหล่ทางและรถในช่องถัดไปสามารถหันหัวและขยับรถตามได้ ก็จะช่วยเปิดช่องทางให้รถฉุกเฉินหรือรถพยาบาลผ่านไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

สรุปได้ว่าการขับมอไซค์นั้นต้องขับต่อท้ายรถยนต์ รถบรรทุกไปโดยอยู่ในช่องด้านซ้าย แต่หากขับเร็วกว่ารถข้างหน้าก็ไม่จำเป็นต้องต่อแถวเป็นเต่าคลานไปเรื่อย ๆ สามารถแซงด้านขวาได้ โดยแซงเสร็จแล้วก็กลับเข้าช่องซ้ายตามเดิม และรถจักรยานยนต์ไม่จำเป็นต้องขับชิดขอบทางด้านซ้ายเสมอไป จะขับชิดขอบทางด้านซ้ายก็ต่อเมื่อขับช้ากว่ารถคันอื่นบนถนนและไหล่ทางไม่ได้มีไว้ให้มอไซค์วิ่ง

ขับรถโดยประมาทมีโทษอย่างไรบ้าง

เมื่อมีการขับรถชนกัน ก็มักจะมีการทะเลาะโต้เถียงหาว่าใครผิด ก่อนที่เราจะหาว่าใครผิดต้องเข้าใจก่อนว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติจะมีการรับผิดในทางอาญาและเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้ด้วย เรียกว่าคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา โดย JusThat จะอธิบายในส่วนของโทษทางอาญาจากการขับรถโดยประมาทก่อน

ประมาท คือ การที่ปราศจากความระมัดระวัง หรือใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอแก่การกระทำนั้น ๆ เพราะหากใช้ความระมัดระวังมากเพียงพออุบัติเหตุก็คงไม่เกิด เมื่อชนกันไปแล้วโทษที่ต้องรับก็ขึ้นอยู่กับความหนักเบาด้วยนะ ต้องดูเป็นกรณีไป

1.ชนกันธรรมดา ไม่มีคนบาดเจ็บหรือคนตาย มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว มาตรา 43(4) มีโทษปรับตั้งแต่ 400 – 1000 บาท ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 157
2.ชนกันบาดเจ็บเล็กน้อย มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390
3.ชนกันจนคู่กรณีบาดเจ็บสาหัส พิการ สูญเสียอวัยวะ หรือต้องรักษาตัวเกิน 20วัน จะมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
4.ชนกันจนคู่กรณีเสียชีวิต มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี และปรับสูงสุด 200,000 บาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะต่างคนต่างละเมิดกฎจราจร ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดตามความผิดที่ตนเองทำ ซึ่งจะเป็นโทษในคดีอาญา ใครผิดกฎหมายข้อไหนก็รับผิดในข้อนั้น ส่วนในทางคดีแพ่งจะเป็นเรื่องของค่าเสียหาย ต้องดูว่าใครประมาทมากกว่ากัน หากอีกฝ่ายใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้ว ฝ่ายที่ไม่ระมัดระวังก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเรียกค่าเสียหายได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น

แต่หากต่างฝ่ายต่างประมาทพอกัน ไม่มีใครประมาทน้อยกว่ากันศาลก็อาจตัดสินให้ไม่มีใครได้รับค่าสินใหมเลยก็ได้ หรือที่พูดกันภาษาปากว่าประมาทร่วม ถึงแม้ประมาทร่วมจะไม่มีอยู่ในตัวบทกฎหมาย และต่างฝ่ายต่างไม่สามารถทำความประมาทร่วมกันได้ ประมาทร่วมจึงหมายถึงต่างฝ่ายต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้น เราจึงควรขับขี่รถด้วยความไม่ประมาทและปฎิบัติตามกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินทั้งตัวเองและผู้อื่นด้วย